โรคไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B) เป็นการอักเสบของตับซึ่งเกิดจากไวรัสตับอักเสบ บี โดยเชื้อไวรัสจะบุกรุกสู่เซลล์ตับ และก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น ในบางกรณีผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ตับมีการอักเสบต่อเนื่องทำให้เป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด
การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
- มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยาง
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน และการเจาะหู
- แม่ที่มีเชื้อสามารถติดต่อไปยังลูกได้ขณะคลอด
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มหรือสิ่งมีคมที่ติดเชื้อระหว่างปฏิบัติงาน
- โดยการสัมผัสกับ เลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล
อาการของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี
อาการของผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี จะเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 45 – 90 วัน บางรายอาจจะนานถึง 180 วัน ผู้ป่วยที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดตามตัว มีไข้ แน่นท้อง ถ่ายเหลว เป็นอยู่ 4 – 15 วัน หลังจากนั้นจะมีตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อาการตัวเหลืองตาเหลืองจะหายไปภายใน 1 – 4 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์ จึงสามารถทำงานได้ปกติ สำหรับเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกคลอด อาจไม่มีอาการ
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี
ส่วนใหญ่หายเอง แต่จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งต้องรักษาโดยการให้ยา interferon หรือ lamivudine และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี
โรคไวรัสตับอักเสบ บี สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ในการดูแลตัวเอง และต้องคำนึงถึงบุคคลใกล้ชิดด้วย เพราะอาจนำเชื้อไปสู่คนใกล้ชิด วิธีการปฏิบัติตัวหากมีเชื้ออยู่ในร่างกายคือ
- รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
- รับการตรวจเลือดเพื่อติดตามอาการ ตามแพทย์แนะนำ
- บอกให้คนใกล้ชิดทราบ หากคนใกล้ชิดไม่มีภูมิคุ้มกันอาจพิจารณาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการสวมถุงยางอนามัย
- งดบริจาคโลหิต
- ไม่ดื่มสุรา ของมึนเมา
- ไม่ใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- พักผ่อนให้เพียงพอ
20 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.