Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bcflnrstv568

คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็คโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน นี่คืออาการติดโทรศัพท์มือถือ ที่ส่งผลต่อด้านสุขภาพร่างกาย

พญ.พรรณพิมลวิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าบางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็คโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia)และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์แบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ

          สำหรับ อาการติดโทรศัพท์มือถือส่งผลต่อด้านสุขภาพร่างกาย เช่น 1.นิ้วล็อกเกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน2.อาการทางสายตาเช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไปอาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม3.ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผล เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร 4.โรคอ้วนแม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้

          พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าโนโมโฟเบีย (Nomophobia)มาจากคำว่า "no mobile phone phobia"เป็นศัพท์ที่หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่(YouGov)บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 ที่ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัววิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบมากที่สุด กว่า70%ในกลุ่มเยาวชน18-24ปีรองลงมา คือ กลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ25 - 34ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ55ปีขึ้นไป ตามลำดับ ในปัจจุบัน ยังไม่ถึงขั้นกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลักทางจิตเวช (DSM 5)เนื่องจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค พยาธิสภาพทางจิตใจ และ ผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวยังมีไม่มากพอ

          อย่างไรก็ตาม แนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเอง มีหลายวิธี เช่นกำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน,กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ทโฟนเช่น ขณะเดิน กิน ก่อนนอน ตื่นนอนใหม่ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทำงาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬากิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด

2 เมษายน 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.