Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c ceglortuyz14

ปัจจุบันระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตนในความดูแลอยู่ประมาณ14.64 ล้านคน เมื่อผู้ประกันตนเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายไม่เนื่องจากการทำงานสามารถเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ หรือคลินิกเครือข่าย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เพราะสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่าย (capitation) ให้แก่สถานพยาบาล ในโครงการประกันสังคมตามจำนวนผู้ประกันตนไว้แล้ว โดยสำนักงานประกันสังคมกำหนดให้สถานพยาบาล ต้องดูแลการให้บริการทางการแพทย์แก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองตามสิทธิการรักษาพยาบาล คือให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาพยาบาล จนสิ้นสุดการรักษา ผู้ประกันตนจะได้รับยาและเวชภัณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ การรักษาเป็นไปตามหลักวิชาทางการแพทย์ ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ผู้ประกันตนไปเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทุกแห่งจะได้รับการตรวจประเมินคุณภาพมาตรฐานอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสัมฤทธิ์ผล

เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานประกันสังคมยังจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสิทธิแก่ผู้ประกันตน โดยจ่ายให้แก่สถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น และ จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการรักษาประเภทผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูง ตามระดับความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ ยังได้ให้สิทธิผู้ประกันตนผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูก ถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต พร้อมทั้งได้ขยายความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะและได้ขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต และโรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ให้ได้รับการรักษาโดยการปลูก ถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนหายจากการเจ็บป่วยสามารถทำงานได้เป็นปกติที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปี 2561 สำนักงานประกันสังคมได้จัดสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 237 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 78 แห่ง และได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถขอเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ได้ปีละ 1 ครั้ง คือในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้กำชับให้สถานพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนดูแลผู้ประกันตนที่เลือกสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ตั้งแต่การให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลรักษาพยาบาลในระยะเริ่มแรกของการเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษา

หากไม่ได้รับความสะดวกในการให้บริการของสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานของสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการ แต่หากยังพบปัญหา ขอให้แจ้งรายละเอียดที่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เช่น ชื่อ – นามสกุล วันเวลาที่รับการรักษาพร้อมทั้งรายละเอียดของแพทย์ผู้รักษามาที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ทางเว็บไซต์ สานักงานประกันสังคมที่ www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506

27 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c aelmnrstuz69

กรมสุขภาพจิต ชี้ "คนแก่" ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงอันดับ 2 ของประเทศ ด้าน "ตำรวจ" กลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายด้วย พบแนวโน้เพิ่มขึ้นจากปีละ 29 ราย เป็นเฉลี่ย 34 ราย ส่วนใหญ่อายุ 41-50 ปี ยศดาบตำรวจ รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม เหตุเจอภาวะวิกฤตในชีวิต และเหตุการณ์สะเทือนขวัญบ่อย

     น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ ว่า ประเทศไทยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,000 คนต่อปี พบเป็นวัยทำงานมากสุด รองลงมาคือวัยสูงอายุ ทั้งนี้ สาเหตุการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ 3 อันดับแรกคือ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด , โรคเรื้อรังทางกาย , และโรคซึมเศร้า ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอีก 8 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14.9 ล้านคน ซึ่งการที่บุคคลมีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและสมองย่อมเสื่อมถอยลง ความสามารถในการทำงานย่อมลดน้อยลงไป รวมทั้งอาจมีข้อจำกัดในการปรับตัว ส่งผลให้ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการดำรงชีวิต ความพึงพอใจในชีวิตลดลง กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินความพึงพอใจของผู้สูงอายุไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้สูงอายุกลุ่มป่วยคือ ผู้สูงอายุสมองเสื่อมที่มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ ผู้สูงอายุที่เป็นโรคซึมเศร้า 2.ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ คือ โรคเรื้อรัง, ติดบ้าน, ติดเตียง และ 3.ผู้สูงอายุกลุ่มดี ในชมรมผู้สูงอายุ

      นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวว่า รพ.ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “สบายใจ” เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายเชิงรุก ให้มีความน่าสนใจ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงง่าย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การป้องกันการฆ่าตัวตายได้ผลดียิ่งขึ้นอยากขอให้สังคมและประชาชนร่วมช่วยกันเฝ้าระวังปัญหาโดยสังเกตผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 กลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช กลุ่มสูญเสียหรือผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง กลุ่มที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย กลุ่มพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์หุนหันพลันแล่น และ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น เก็บตัว ท้อแท้สิ้นหวัง หมดหวังในชีวิต พูดสั่งเสีย ถือว่าเป็นสัญญาณเตือน ขอให้รีบไปพูดคุย จัดการปัญหาให้เบื้องต้น หากยังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด หรือโทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

          นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท จิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการฆ่าตัวตายของอาชีพตำรวจ ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่าตำรวจมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2 อันดับ คือ 1.ภาวะวิกฤตในชีวิตและปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย ได้แก่ อาการซึมเศร้า อาการโรคจิตและใช้สารเสพติด และ 2.ตำรวจมีโอกาสพบกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น เช่น อาชญากรรม การฆาตกรรม การฆ่าตัวตายการข่มขืน ฯลฯ ซึ่งเสี่ยงให้เกิดโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งหลายการศึกษาสนับสนุนว่า หากไม่ได้รับการบำบัดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายในกลุ่มอาชีพตำรวจได้

          “จากการเก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของตำรวจในประเทศไทยพบว่า ตั้งแต่ปี 2551-2555 มีการฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 29 นาย ส่วนปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยปีละ 34 นาย โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41-50 ปี เป็นยศดาบตำรวจ และรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม ส่วนข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่ากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มคนผิวขาว อายุมาก และรับผิดชอบงานด้านอาชญากรรม ซึ่งมีความเครียดสูง ซึ่งการดูแลก็เหมือนบุคคลทั่วไป คือ คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการเตือน เช่น การพูดถึงการตายเชิงสั่งเสีย อารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้ 1.ผู้ที่เกิดภาวะวิกฤตไม่ว่าจากการสูญเสียทั้งด้านการงานหรือคนที่รัก 2.ผู้ที่แยกตัวจากสังคมหรืออยู่คนเดียว 3.ผู้มีประวัติฆ่าตัวตายมาก่อน และ 4.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพจิตตำรวจในระบบก็จะมี รพ.ตำรวจให้การดูแลและรวมถึง รพ.ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่มีจิตแพทย์ก็สามารถขอคำปรึกษาและรับบริการได้” นพ.ปทานนท์ กล่าว

27 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c ehiknpqtvx35

สถาบันประสาทวิทยา  กรมการแพทย์  เผยเนื้องอกในสมองเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง แต่บางรายพบความผิดปกติจากพันธุกรรม โดยพบเนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดาได้บ่อยกว่าเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง

นายแพทย์ภาสกร  ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื้องอกในสมอง คือ เนื้อที่เกิดจาก การเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมองหรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง  ไปรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ และอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก  ซึ่งเนื้องอกในสมองมี 4 ระดับ โดยวัดตามลำดับการเจริญเติบโตของเนื้องอกและโอกาสในการกลับมาเป็นอีก  แม้ได้รับการรักษาแล้ว  แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. เนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา  เป็นเนื้องอกที่มีการเจริญเติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หายหรือมีขนาดเล็กลงได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา 2. เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย เป็นเนื้องอกอันตราย มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ คือ เซลล์มะเร็ง อาจเกิด   บริเวณสมอง หรือเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นแล้วลามเข้าสู่สมอง เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ    ไม่สามารถควบคุมได้ และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีก

นายแพทย์เอกพจน์ จิตพันธ์ นายแพทย์ปฏิบัติการด้านเวชกรรม สาขาประสาทศัลยกรรม  สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า  สาเหตุของเนื้องอกในสมอง เกิดจากความผิดปกติของ สารพันธุกรรมในเซลล์สมอง หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์ ซึ่งจะทำให้เซลล์มีการแบ่งตัว และเจริญเติบโตในอัตราที่ผิดปกติ เนื้อเยื่อที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติเหล่านี้จึงก่อตัวเป็นเนื้องอกบริเวณสมอง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่สมองและระบบประสาท หรืออาจเกิดจากมีเซลล์มะเร็งที่อื่นแล้วลามเข้าสู่สมองทางกระแสเลือด ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการ  ที่เฉพาะเจาะจงในการป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกในสมอง แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง ได้แก่ อายุ การได้รับรังสีอันตรายเข้าสู่ร่างกาย ประวัติบุคคลในครอบครัวที่เคยมีเนื้องอกในสมอง ปัจจุบันแนวทางการรักษาเนื้องอกในสมองมีอยู่ 3 วิธี คือ การผ่าตัด ฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกแนวทางการรักษาจากอาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการและมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งของสมองที่ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของร่างกาย อาจเพียงแค่ติดตามอาการเพื่อดูว่ามีการขยายตัวของเนื้องอกเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงค่อยทำการรักษา แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่พอสมควรและทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกออก ในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว พบว่าเป็นเนื้อร้ายอาจต้องทำการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

ดังนั้น หากมีสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกายที่อาจบ่งบอกว่ามีเนื้องอกในสมอง เช่น อาการปวดศีรษะเรื้อรังที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการอ่อนแรงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาการชัก ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาอย่างทันท่วงที

27 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c lmnpsvwz3579

กรมควบคุมโรค เร่งกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า หลังข้อมูล 2 เดือนมีสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าสูงกว่าปีที่แล้ว 1.5 เท่า แนะประชาชนหากถูกกัด ข่วน เลีย ให้รีบ “ล้างแผล ใส่ยา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์นัด” พร้อมทั้งสั่งการหน่วยงานเร่งค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครบ 100%

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นที่น่ากังวลอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมายังมีการตรวจพบสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2561 เพียง 2 เดือนพบผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 2 ราย ขณะนี้มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า โดยพบว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อมากที่สุดกว่าร้อยละ 90 นอกนั้นพบในแมว และโค ซึ่งมีรายงานการตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโคเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์รายงานว่า ปี 2561 จังหวัดที่พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร กาฬสินธ์ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ทำให้ยังมีสัตว์ติดเชื้อเเละมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 1.ประชาชนไม่นำสุนัข แมวไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  2. ประชาชนปล่อยสัตว์เลี้ยงนอกบ้าน ทำให้เสี่ยงต่อการถูกกัดจากสัตว์ที่มีเชื้อ 3. ประชาชนขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ เช่น เมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัด ข่วน เลีย ก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข-แมวในจำนวนที่พอเหมาะ คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแลเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณบาดแผลหลายๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยา โดยทาหลังจากการล้างแผลและซับให้แห้ง กักหมา 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการตัดสินใจรับวัคซีนหรือไม่ และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขต เเละสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ความรู้ที่จำเป็นแก่ประชาชน และเร่งค้นหา ติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสโรคทุกรายให้มารับวัคซีนให้ครอบคลุม 100 % รวมทั้งกำชับ อสม.ให้เคาะประตูบ้าน เพื่อเพิ่มค้นหา และติดตามผู้ถูกกัดหรือสัมผัสโรคมารับวัคซีนให้ครบทุกราย สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ช่วยกันสอดส่องสัตว์แปลกหน้าที่มีอาการดุร้ายและแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร่งด่วน หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

27 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c bgjstyz12378

สพฐ.เตรียมฝึกทักษะวิชาชีพให้เด็กพิเศษก่อนจบ เพื่อทำงานได้ วอนผู้ปกครองมั่นใจรัฐไม่ทิ้งเด็กพิเศษทุกประเภท เล็งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเด็กพิเศษ

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงแนวทางส่งเสริมการมีงานทำของเด็กพิการ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ร่วมกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน โรงเรียนเพื่อคนพิการ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดเตรียมเด็กพิการที่เรียนอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ให้มีความรู้ทักษะวิชาชีพ นอกจากทักษะความรู้วิชาสามัญพื้นฐาน เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ภายหลังเรียนจบจากโรงเรียน ซึ่งเราจะต้องเตรียมการเพื่อให้เด็กมีทักษะพื้นฐานงานอาชีพก่อนที่จะจบออกไป เพราะนักเรียน ม.ปลาย จะเริ่มค้นพบแล้วว่า ตัวเองมีความถนัดด้านไหนหรือต้องการทำอาชีพอะไร ซึ่งเราก็ต้องช่วยเหลือเตรียมความพร้อมให้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่พบก่อนหน้านี้ คือ แม้เราจะฝึกให้เด็กมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว แต่เมื่อเด็กเรียนจบก็ยังพบว่า เด็กไม่รู้ว่าจะต้องไปทำงานอะไร ที่ไหน ถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการที่มีเมตตาจิตรับเด็กพิการไปทำงานโครงการก็คงไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการ ทั้ง ห้าง ร้าน โรงแรม หรือ ร้านอาหาร กว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญและเปิดโอกาสรับเด็กพิการเข้าไปทำงาน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและเป็นความดีงามที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นมิติที่สังคมควรรับรู้ โดยเฉพาะสิ่งที่อยากให้ผู้ปกครองที่มีลูกพิการด้านใดด้านหนึ่งรับรู้ด้วยว่า สังคมของเรายินดีดูแลลูกหลานของท่านตั้งแต่เข้าเรียน จบแล้วมีงานทำ จึงอยากให้ผู้ปกครองกล้าที่จะก้าวออกมาให้พวกเราดูแล และขอให้มั่นใจว่าทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมที่จะดูแลลูกหลานของท่าน 

“รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายชัดเจนเรื่องการดูแลการศึกษาพิเศษว่า ต้องให้คำจำกัดความให้ชัดเจนว่าเราจะดูเด็กแต่ละประเภทอย่างไร และได้มอบให้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เร่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและให้คำเสนอแนะการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรที่จะดูแลเด็กพิการโดยเฉพาะให้มีความชัดเจน โดยเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ และมีสถานะที่จะทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่ง สพฐ.ก็เห็นด้วยที่จะให้มีหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ  ส่วนเรื่องเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ก็กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเช่นกัน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการเลย  ผมจึงมอบหมายให้นางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการ กพฐ.ไปดูข้อกฎหมาย เพื่อเตรียมข้อมูลเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ แล้ว “ดร.บุญรักษ์กล่าว

26 กุมภาพันธ์ 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.