- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 235
นักวิทยาศาสตร์ได้มีการค้นพบใหม่ว่าเซลล์สมองหาใช่เสื่อมตายทางเดียวไม่ หากแต่สามารถงอกใหม่ได้ไม่ว่าอายุจะมากแค่ไหนก็ตามและวงจรเชื่อมต่อของเซลล์สมองอันเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การพัฒนาจิตใจ นิสัยและบุคลิกภาพของคนเรา หาใช่เป็นสิ่งตายตัวไม่หากแต่สามารถปรับเปลี่ยนวงจรใหม่ได้ตลอดเวลาจนแก่จนตาย
เราสามารถกระตุ้นการงอกใหม่และการปรับเปลี่ยนวงจรใหม่ของเซลล์สมองด้วยการปฏิบัติตัว 8 ประการ ดังต่อไปนี้
1.ออกกำลังกายประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วันด้วยการวิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก ฯลฯ นานครั้งละ 30 นาที
2.บริหารจิต ด้วยการสวดมนต์ไหว้พระหรือทำสมาธิทุกวันวันละ 1-2 ครั้งๆ ละ 10-15 นาทีหรือทำละหมาด อธิษฐานจิต และหมั่นเจริญสติระลึกรู้กับการเคลื่อนไหวร่างกายหรืออิริยาบถ (เช่น การหายใจเข้าออก การออกกำลังกาย การนั่ง นอน ยืน เดิน) และกิจกรรมต่างๆที่ทำในชีวิตประจำวัน (เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ ดื่มน้ำ กินข้าว ล้างจาน ซักผ้า ขับรถ)
3.นอนหลับให้เพียงพอ ประมาณ 7-9 ชั่วโมงการนอนพอให้สังเกตได้จากการที่ตื่นนอนตอนเช้ารู้สึกสดชื่น ไม่ง่วง ไม่มึนศีรษะ และทำงานได้ทั้งวัน ไม่มีง่วงเหงาหาวนอน
4.กินอาการสุขภาพ ลดบริโภคไขมันและเนื้อแดง (เนื้อหมู เนื้อวัว) กินผักผลไม้และปลาให้มากๆ
5.หมั่นเรียนรู้และหาประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น การอ่านหนังสือ การศึกษาค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ (จากอินเทอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์ การอบรมฟังบรรยาย การดูงาน) การเข้าสังคม การเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม ชมรม หรือสมาคม
6.หมั่นฝึกใช้สมอง เช่น ใช้ความคิดปรับปรุงพัฒนางานและสิ่งต่างๆ ถ้ามีเวลาว่างก็อาจลับสมองด้วยการเล่นเกม เล่นไพ่
7.คิดดี พูดดี ทำดี เช่น คิดบวก คิดสร้างสรรค์ รู้จักมองตน ทบทวนตัวเอง มองเห็นการอิงอาศัยและเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง ระลึกถึงบุญคุณของผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่เอี้อให้เราอยู่รอดและเติบโต มีปิยวาจา ช่วยเหลือเผื่อแผ่คนอื่น
8.หลีกเลี่ยงสิ่งที่บั่นทอนร่างกาย สมองและจิตใจ เช่น สุรา ยาสูบ สารเสพติด อบายมุขต่างๆ การอดนอนเรื้อรัง ความเครียดเรื้อรัง การบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนต่อศีรษะ
7 ก.พ. 2561 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 2883
โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคยอดฮิตในปัจจุบัน อาจเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ที่ต้องเร่งรีบ อาหารเช้าที่ควรเป็นอาหารมื้อสำคัญ ก็ไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องเร่งรีบฝ่ากระแสการจราจร ก็เลยมีเพียงกาแฟหนึ่งแก้วกับขนมปังอีกหนึ่งแผ่น แล้วมาบำเรอเอาหนักๆ กันในตอนมื้อเย็น ซึ่งที่ถูกควรเป็นมื้อที่ไม่หนัก แถมบางวันกว่าจะได้กินมื้อเย็นก็เลยเวลาออกไปไกล “กรดไหลย้อน”ก็เลยถามหา
“โรคกรดไหลย้อน” หมายถึง การที่น้ำย่อย ซึ่งประกอบด้วยกรดเกลือในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไประคายต่อหลอดอาหาร และบริเวณลำคอ ทำให้มีอาการแสบลิ้นปี่ คล้ายเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง โรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร ซึ่งกล้ามเนื้อหูรูดนี้จะคลายตัวเมื่อมีอาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้ว หูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้กรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไป ที่หลอดอาหาร ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนั้น กล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอดอาหารนี้จะหย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ ขอแนะนำสมุนไพรที่แก้อาการกรดไหลย้อนมาฝาก สมุนไพรตัวแรกที่ขอแนะนำก็คือ “ยอ” มีรสร้อน นิยมนำมาเป็นทั้งอาหารและยา ในการบำรุงเลือดลม แก้ปวด แก้ปวดเมื่อย แก้หวัด ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รักษาอาการลมพัดขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไอ เรอ ซึ่งฤทธิ์รักษาอาการลมพัดขึ้นนั้นใกล้เคียงกับอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันได้มีงานวิจัยสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว อาทิ การศึกษาวิจัยในหนู พบว่า “ยอ” ซึ่งมีสารสำคัญ คือ สโคโปเลติน (scopoletin) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้น สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดี พอๆ กับยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อน คือ รานิติดีน (ranitidine) และแลนโสพราโซล (lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น โดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยังมีรายงานว่าสามารถเพิ่มการดูดซึมของรานิติดีน “ยอ” จึงเหมาะในการเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการศึกษาวิจัยข้างต้น และการที่ “ยอ” มีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ไม่เกิดลมในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดแรงดันที่ทำให้กรดไหลย้อน “ยอ” ยังช่วยให้กระเพาะบีบเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ทำให้อาหารเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เล็กได้ดีขึ้น
สมุนไพรที่อาจใช้ร่วมกัน คือ ขมิ้นชัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องอืด และช่วยขับน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน ทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กนานเกินไป ทั้งช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย มีผู้แนะนำให้กินขมิ้นชันก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ขนาดรับประทานคือ ครั้งละ 1 ช้อนชาสำหรับแบบผง หรือ 3 เม็ดๆ ละ 500 มก.
นอกจากนี้ยังมีผู้แนะนำให้ดื่มน้ำกะเพรา 1-2 แก้วๆ ละ 250 มล.หลังอาหาร 15-30 นาทีประโยชน์ของขมิ้นชันและน้ำกะเพรา จะช่วยเร่งการย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล ช่วยขับลม ลดกรด ลดอาการแน่นท้อง และช่วยบรรเทาอาการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้อีกด้วยน้ำขิง ให้สังเกตว่าจะดื่มแบบเย็นหรือร้อนดี เช่น ถ้าดื่มแบบร้อนแล้วรู้สึกท้องอืดไม่สบาย ก็ให้แก้เป็นดื่มแบบเย็น(วิธีการนี้ใช้สำหรับน้ำกะเพราด้วย)ว่านหางจระเข้เฉพาะส่วนที่เป็นวุ้น แช่ค้างคืนให้เมือกใสๆ ออกให้หมดแล้วนำมากิน เพื่อช่วยเคลือบกระเพาะใบเตยสดประมาณ 9 ใบ กับใบสดของว่านกาบหอยแครง 9 ใบ ต้มกับน้ำรวมกัน 2 ลิตร จนเดือดเคี่ยวไฟอ่อน 1 ชม. ตักครึ่งแก้วใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และเกลือป่นเล็กน้อย กินต่างน้ำ วันละ 2-3 ครั้ง 4-5 วัน ดื่มต่อเนื่อง 3-6 เดือน
นอกจากนี้ยังมีกระเจี๊ยบเขียว รักษาโรคกระเพาะ เยื่อบุกระเพาะและลำไส้อักเสบ บรรเทาอาการท้องผูก ช่วยกำจัดสารพิษออกจากลำไส้ มะละกอ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยในเรื่องขับถ่าย มะขามป้อม ช่วยขับพยาธิ ธาตุพิการ
6 ก.พ.61 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 285
ข้อเข่า เป็นข้อต่อที่สำคัญของร่างกาย เนื่องจากเป็นส่วนที่ใช้ในการเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน, การวิ่ง หรือการเคลื่อนไหวในขณะเล่นกีฬาและออกกำลังกาย โดยหากศึกษาทาง ด้านกายวิภาคศาสตร์จะพบว่า ข้อเข่าไม่ได้มีกล้ามเนื้อห่อหุ้มไว้แน่นหนาเหมือนข้อต่ออื่นๆ เช่น ข้อสะโพก และข้อไหล่ ดังนั้น ข้อเข่าจึงขาดกลไกที่ช่วยดูดรับแรงกดเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้ง ปกติข้อเข่าจะเป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด เมื่อมีการใช้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอย่อมจะก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพ
ดังนั้น จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก รวมถึงในกลุ่มนักกีฬาที่มีการเปลี่ยนทิศทาง การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว และกีฬาที่มีลักษณะของการกระโดด เช่น ฟุตบอล, บาสเก็ตบอล, วอลเลย์บอล, เทนนิส และแบดมินตัน เป็นต้น โดยในกีฬาดังกล่าวพบว่า ปัญหาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก ซึ่งผลที่ได้จากปัญหาดังกล่าวนี้ จะบั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ยิ่งลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูและรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าให้หายเป็นปกติ เพื่อกลับมาเล่นกีฬา ออกกำลังกาย รวมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติโดยเร็วที่สุด
ในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ที่มีปัญหาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่านั้น จุดประสงค์หลักก็เพื่อที่จะรักษาระดับสมรรถภาพทางกายของผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บให้อยู่ในระดับคงที่ ดังนั้น รูปแบบกิจกรรมการออกกำลังกายที่นำมาใช้ จะต้องมีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำกับอาการเดิมที่เป็นอยู่ ซึ่งการออกกำลังกายที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การออกกำลังกายในน้ำ(Aquatic exercise) การออกกำลังกายด้วยการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าโดยใช้แรงต้าน (resistance exercise) และการออกกำลังกายโดยการเดินถอยหลังบนลู่กล (backward walking exercise) เป็นต้น
การออกกำลังกายโดยการเดินถอยหลังบนลู่กล (backward walking exercise) เป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากวงการเวชศาสตร์ฟื้นฟูและวิทยาศาสตร์การกีฬาว่า สามารถที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ที่มีปัญหาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าได้ ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะของรูปแบบการออกกำลังกายจะช่วยลดแรงกดบริเวณข้อต่อ patello femoral และลดมุมการเคลื่อนไหวของข้อเข่า โดยจะเกิดการยืดตัวของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังก่อนถึงช่วงที่ข้อเข่าจะรับน้ำหนัก ทำให้ช่วยลดแรงกดที่ข้อเข่าได้ ที่สำคัญคือ ยังช่วยป้องกันการยืดเกินไปของเอ็นไขว้หน้าได้อีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปในขณะที่ออกกำลังกายโดยการเดินแบบปกติหรือการเดินไปข้างหน้านั้น ในช่วงที่มีการเคลื่อนที่ของข้อเข่า จะพบว่าการหดตัวของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า และน้ำหนักของร่างกายจะทำให้เกิดแรงกดบนข้อต่อ patello femoral เป็นอย่างมาก อีกทั้งระยะการงอของเข่าก็จะมีผลโดยตรงกับขนาดของแรงจากกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหน้า ยิ่งระยะการงอมากขึ้นเท่าไรแรงกดก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การออกกำลังกายโดยการเดินถอยหลังบนลู่กล จึงมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากในการนำมาฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายในผู้ที่มีปัญหาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า
จุดประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง ของการเดินถอยหลังบนลู่กล คือการพัฒนาความอดทนของระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจ (Cardio respiratory endu rance) ในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวมาก ซึ่งไม่สามารถที่จะออกกำลังกายโดยวิธีอื่นเหมือนคนปกติทั่วไป ดังนั้น ถ้าหากมีการกำหนดความหนักและระยะเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมแล้ว การออกกำลังกายรูปแบบดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้การทำงานของหัวใจ ระบบไหลเวียนเลือดและปอด ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายในรูปแบบดังกล่าวนี้ค่อนข้างจะเป็นการฝืนธรรมชาติ ดังนั้น ขณะออกกำลังกายควรเริ่มฝึกเดินถอยหลังจากความเร็วที่ช้าๆ สักระยะหนึ่ง จากนั้นเมื่อชำนาญดีแล้ว ค่อย ๆ ปรับเพิ่มระดับความเร็วตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
6 ก.พ.61 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 673
การกินกระเทียมเป็นยาต้องใช้กระเทียมดิบ สดและใหม่ ไม่ควรเคี้ยวเพราะจะร้อน หรือไม่ควรกลืนทั้งกลีบ เพราะจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย กระเทียมมีสรรพคุณเป็นยา แต่ยังมีผู้นำไปใช้ไม่ถูกวิธีตัวอย่างการนำไปใช้ประโยชน์ กระเทียมแก้ปวดฟัน ก็ให้นำหัวกระเทียม 1 กลีบ ปอกเปลือกออกแล้วนำมาตำจนละเอียด ขณะที่ตำให้ใส่เหลือไปด้วยสักเล็กน้อย แล้วนำไปพอกหรืออุดไว้บริเวณฟันที่ปวด กระเทียม ช่วยรักษากลาก เกลื้อน ให้ใช้ใบมีดขูดผิวหนังบริเวณที่เป็นกลาก เกลื้อนจนมีเลือดซึมก่อน หลังจากนั้นให้นำหัวกระเทียม 1 กลีบ ปอกเปลือก แล้วใช้มีดตัดให้เป็นแว่น จากนั้นนำไปทาถูบริเวณผิวหนังที่เป็นกลาก เกลื้อน วันละ 2-3 ครั้ง ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นจนหายไป
กระเทียม บรรเทาอาการจุดเสียดแน่นเฟ้อ ให้นำหัวกระเทียม 5-7 กลีบ ปอกเปลือก นำมาตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำส้มสายชูลงไปประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือเกลือเล็กน้อย เพื่อให้รับประทานง่าย ใช้รับประทานหลังอาหาร
กระเทียม บรรเทาโรคบิด นำหัวกระเทียม 12-15 กลีบ ปอกเปลือก รับประทานดิบๆ วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารอาจใช้น้ำผึ้งหรือน้ำตาลอ้อย ช่วยกลบรสเผ็ดของกระเทียมก็ได้
กระเทียม ช่วยรักษาแผลที่เน่าเปื่อยและเป็นหนอง ให้นำหัวกระเทียม 1 หัว มาปอกเปลือกแล้วตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็นแผล โดยพอกทิ้งเอาไว้ประมาณ 30 นาที จึงเอาออกแล้วทำความสะอาดแผลหรือจะนำกระเทียมที่ตำแล้วไปแช่ในน้ำอุ่นและปิดฝาทิ้งเอาไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงกรองเอาน้ำมาใช้ล้างแผล ก็ได้ผลดีเช่นกัน
กระเทียมช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตหรือเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบตัน
ให้กินกระเทียมสดครั้งละ 5 กรัม โดยสับหรือบดตวงได้ราว 1 ช้อนชาพูน กินพร้อมอาหารวันละ 3 เวลา
กระเทียมช่วยแก้ปัญหาผมหลุดร่วง เพียงแค่ฝานกระเทียมเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมานวดศีรษะ หรือจะผสมลงในออยล์แล้วนำมานวดศีรษะก็ได้เช่นกัน เพราะในกระเทียมมีอัลลิซิน (allicin) และซัลเฟอร์ (sulfur) สูง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดปัญหาผมหลุดร่วงนั่นเอง (ข้อนี้คงต้องทำในวันหยุด)
กระเทียมถือเป็นยารักษาสิวจากธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยฝานกระเทียมสดบาง ๆ แล้วนำมาประคบลงบนสิวเบา ๆ ทิ้งไว้สักพัก แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เท่านี้สิวกวนใจก็จะอันตรธานหายไปอย่างแน่นอน
กระเทียมช่วยป้องกันและรักษาโรคหวัด ด้วยการหั่นกระเทียมเป็นแว่น แช่ในน้ำร้อนประมาณ 2-3 นาที แล้วกรองเอากากออก จิบเป็นชากระเทียมอุ่น ๆ ก็ดี หรือถ้าทนกลิ่นไม่ไหว จะเติมน้ำผึ้งหรือน้ำขิงเข้าไปสักหน่อยก็ไม่ผิดกติกาใดๆ
ข้อควรระวัง อย่ากินกระเทียมตอนท้องว่าง เพราะจะระคายเคืองต่อกระเพาะ ลำไส้
ในกรณีต้องการกินเป็นประจำ เพื่อช่วยป้องกันเบาหวาน และขจัดพิษสารตะกั่ว ให้ใช้กระเทียมกลีบใหญ่ ๆ เพียง 3 กลีบ ทุบให้แตก กลืนกับน้ำอุ่น 1 แก้ว ทุก ๆ เช้าหลังตื่นนอน น้ำอุ่นจะช่วยไม่ให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะ สำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติ มีระดับความดันโลหิตเป็นปกติ ผู้ที่มีอาการของเลือดหยุดไหลช้า รวมไปถึงผู้ที่ใช้ยาอื่นๆ เป็นประจำ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบ ยาต้านไวรัส ไม่ควรรับประทานกระเทียมในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เป็นโทษต่อร่างกายได้
เห็นแล้วว่ากระเทียมมีประโยชน์จริง ๆ รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่ทนกลิ่นไม่ไหว อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องกลั้นจมูกและหลับตากินเข้าไป เพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป
6 ก.พ.61 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 245
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งบางครั้งเชื้ออาจจะลามเข้าปอดทำให้เกิดปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกล้ามเนื้อมาก
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ Influenza virus เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งบางปีอาจจะพบการระบาดของโรค และเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการตัวร้อนมา 2-3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งเชื้ออาจจะลามเข้าปอดทำให้เกิดปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกล้ามเนื้อมาก
การติดต่อของโรค
เชื้อไข้หวัดใหญ่นี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายโดยทางเดินหายใจ จากการไอหรือจาม เชื้อจะเข้าทางปากและเยื่อบุตา สัมผัสเสมหะของผู้ป่วยทางแก้วน้ำ ผ้า จูบ สัมผัสทางมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ระยะเวลาที่ติดต่อคนอื่นคือ 1 วันก่อนเกิดอาการ 5 วันหลังจากมีอาการ ในเด็กอาจจะแพร่เชื้อ 6 วัน ก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นาน 10 วัน
ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดสายพันธุ์ย่อย ๆ เพียงพันธุ์เดียว ซึ่งเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น เชื้อไข้หวัดใหญ่บางพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการระบาดใหญ่ และมีการเรียกชื่อโรคระบาดแต่ละครั้งตามชื่อของประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลังต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายอาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้
มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักจะพบอาการของหวัดค่อนข้างน้อย เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม ซึ่งแตกต่างกับไข้หวัดจะพบกับอาการเหล่านี้ได้ค่อนข้างบ่อย ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วัน แล้วค่อย ๆ ลดลง อาการไอและอ่อนเพลียอาจเป็นอยุ่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะหายลงแล้ว บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ เนื่องจากการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งมักจะหายเองใน 3-5 วัน
ข้อแนะนำในการดูแลรักษา
โรคนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง ส่วนมากให้การดูแลตามอาการ และจะหายเองได้ภายใน 3-5 วัน ซึ่งมีวิธีดังนี้
- ให้นอนพัก ไม่ควรออกกำลังกาย
- ให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ ดื่มจนปัสสาวะใส ไม่ควรดื่มน้ำเปล่ามากเกินเพราะอาจจะขาดเกลือแร่
- รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน โดยเฉพาะในเด็กที่อายุต่ำหว่า 12 ปี เพราะอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ ตามมา
- หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
- ในผู้ที่เจ็บคออาจจะใช้น้ำ 1 แก้วผสมเกลือ 1 ช้อน กลั้วคอ อย่าสั่งน้ำมูกแรง ๆ อาจจะทำให้เชื้อลุกลาม
- ในช่วงที่มีการระบาดให้หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์สาธารณะ ลูกบิดประตู เวลาไอหรือจามต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก
แม้ว่าไข้หวัดใหญ่จะหายได้เอง แต่ผู้ป่วยบางราย หากอาการไม่ทุเลาควรพบแพทย์ หากท่านสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ
6 ก.พ.61 - ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.