Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c adjlnqsx2467

กระทรวงสาธารณสุข มุ่งพัฒนาบุคลากร ระบบบริการ และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพระบบแพทย์ฉุกเฉินของประเทศก้าวเข้าสู่ประเทศไทยยุค4.0

ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 12 จัดโดยวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (วฉท.) ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และปาฐกถาพิเศษ“Emergency Care System 4.0” โดยมีเนื้อหาสำคัญ ว่า การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย เกิดขึ้นจากพื้นฐานความเสียสละของทีมบุคลากรที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นในยามวิกฤติเดือดร้อน คำว่าการแพทย์ฉุกเฉินนั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงบุคลากรในทีมทุกคน ซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกันที่ต้องทำงานสอดประสานกันจนได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยและประชาชน ซึ่งการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีประสิทธิภาพและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน       

          สำหรับสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นการแพทย์ฉุกเฉินยุค 4.0 ได้อย่างแท้จริง มี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.การพัฒนาคนหรือบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและมีจำนวนเพียงพอ2.พัฒนาระบบให้มีมาตรฐานตอบสนองต่อบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์และพื้นที่ได้และ3.การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

          “ขอให้บุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน รณรงค์ให้ประชาชนคำนึงถึงความปลอดภัย โดยให้ความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่างๆและต้องขอขอบคุณบุคลากรทุกคนที่อุทิศตนทำงานหนักเพื่อประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการช่วยชีวิตผู้อื่นซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องและเชิดชูไว้ตลอดไป” ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.ปิยะสกล กล่าว

          ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศมีการพัฒนาที่ดีขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยมีศูนย์สั่งการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นทั้งศูนย์รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669สามารถประเมินสั่งการช่วยเหลือและประสานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสมที่สุดได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

ด้านเรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 12 การประชุมประจำปีวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยครั้งที่ 2 และการประชุมวิชาการประจำปีวุฒิบัณฑิตวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 ถือเป็นเวทีทางวิชาการที่สำคัญมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน นักศึกษา และอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงมีการมอบรางวัลและเข็มเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้ที่เสียสละทุ่มเท อุทิศตนในการทำงานให้การช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศอีกด้วย

12 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c acdhkrsx1346

กระทรวงคมนาคม เตรียมใช้มาตรการลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์  7 วัน ช่วงสงกรานต์ 7 วัน และช่วงหลังสงกรานต์ 7 วัน หรือมาตรการ “7-7-7 ยกกำลังสาม”

นายสิทธิชัย วนานุเวชพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมใช้มาตรการลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะแบ่งช่วง คือ ก่อนเทศกาลสงกรานต์ 7 วัน ช่วงสงกรานต์ 7 วัน และช่วงหลังสงกรานต์ 7 วัน หรือมาตรการ “7-7-7 ยกกำลังสาม”

นอกจากนี้ยังมีแผน 77 เส้นทางปลอดภัย โดยแบ่งเป็นเส้นทางของ ทล. 47 เส้นทาง และเส้นทางของกรมทางหลวงชนบท(ทช.) 30 เส้นทาง ซึ่งในการคัดเลือกเส้นทางนั้นเลือกมาจากจุดที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งเป็นถนนที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยช่วงสงกรานต์ปีก่อน

ทั้งนี้มาตรการความปลอดภัยดังกล่าวในปีนี้ทาง ทล.จะเน้นไปที่การลดความเร็วในการขับขี่เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนทางหลวง หรือคิดเป็น 70% ขณะที่การเมาแล้วขับกับหลับในรวมกันอยู่ที่ 15% ซึ่งก่อนช่วงเทศกาลทาง ทล.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในทุกจุดเพื่อติดตั้งป้ายเตือนรวมถึงจัดทำเครื่องหมายบนผิวถนนทางด้านการชะลอความเร็ว เตือนผู้ขับขี่ควบคู่กับป้ายจับความเร็วมีกล้องถ่ายได้เลยเพื่อเอาผิดตามกฎหมาย โดยความเร็วที่กำหนดตามกฎหมายบนถนนทางหลวงทั่วไปอยู่ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ความเร็วจะอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่งโมง

12 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c acfilnprtw45

ได้ฤกษ์เปิดปฏิบัติการฝนหลวง จับตา‘ภัยแล้ง’รุนแรง-เกษตรฯสั่งเตรียมพร้อมรับมือ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมเปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2561 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ประกอบกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ อาทิ สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนสำคัญทั่วประเทศ ยังมีเขื่อนหลักบางแห่งที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ และมีการขอรับบริการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินโครงการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลที่กำชับให้ทุกหน่วยงานมุ่งดำเนินงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชน

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ภายใต้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถ การบริหารจัดการด้านการบิน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐซึ่งสำหรับในปี 2561 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 2 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป ภาคกลาง จำนวน 2 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป ภาคตะวันออก จำนวน 1 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2561 เป็นต้นไป ภาคใต้ จำนวน 1 หน่วยฯ คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นไป

นายสุรสีห์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมบูรณาการที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำแข็งแห้งในการปฏิบัติการฝนหลวง กรมชลประทานและกรมป่าไม้ เรื่องบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การวิจัยพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ดำเนินโครงการอากาศยานไร้คนขับ UAV กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง เกี่ยวกับการดัดแปรสภาพอากาศโดยพลุสารดูดความชื้นและพลุสารซิลเวอร์ไอโอไดร์กับกองทัพอากาศ และการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือก กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง และบรรเทาปัญหาภัยพิบัติต่างๆ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อต่อสู้กับปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ปัญหาหมอกควัน และไฟป่า รวมถึงการยับยั้งพายุลูกเห็บ โดยจะมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ และ จะพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ให้ นำมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ และประชาชนคนไทยให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากอย่างยั่งยืน

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c bhijlmpsz256

"กรมสุขภาพจิต" เผย เด็กไทยเป็นโรคดื้อต่อต้าน เมินกฎระเบียบ!! หากถูกดุด่าหรือลงโทษจะเพิ่มความก้าวร้าว แนะพบจิตแพทย์เด็ก

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้การเข้าถึงบริการของเด็กที่เป็นโรคจิตเวช โดยเฉพาะโรคสมาธิสั้น และโรคออทิสติกดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่ใน 2 อันดับแรกที่เข้ารักษาที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด แต่มีโรคจิตเวชอื่นๆ โดยเฉพาะโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน ( Oppositional Defiant Disorder ) ซึ่งเด็กจะมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม มีนิสัยดื้อต่อต้านไม่ฟังพ่อแม่ ไม่ทำตามกฎระเบียบ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่ายในระดับที่มากเกินกว่าเด็กทั่วไป สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเป็นประจำ แต่ยังเข้ารับบริการน้อย

ขณะที่ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในกลุ่มเด็กอายุ 13-17 ปี ครั้งล่าสุดปี 2559 พบเด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้าน ร้อยละ 2 หรือมีประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ในเด็กชายพบร้อยละ 2.3 ส่วนเด็กหญิง พบร้อยละ 1.7  ซึ่งโรคนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุ ร่วมกันทั้งตัวเด็กเอง ที่มีพื้นฐานเป็นเด็กอารมณ์ร้อน และสภาพแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ใช้ความรุนแรง การตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่ที่น่าเป็นห่วงพบว่ายังมีพ่อแม่มีความเชื่อผิดๆ คิดว่าเด็กดื้อตามปกติ จึงไม่ได้พาไปรักษา โดยให้การดูแลตามความเชื่อ คือ 1.ปล่อยไปตามธรรมชาติ เด็กน่าจะดีขึ้นเอง 2. ไม่ขัดใจลูก เพราะกลัวลูกจะเครียด กลัวลูกออกจากบ้าน  3.ลงโทษรุนแรงเพื่อดัดนิสัย 4.ส่งไปอยู่กับญาติ หรือส่งไปอยู่โรงเรียนประจำ เพื่อดัดนิสัย ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนี้ ไม่ได้ช่วยให้พฤติกรรมของเด็กดีขึ้น แต่ล้วนทำให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านแย่ลงไปอีก จึงขอให้รีบพาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อตรวจประเมิน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง 

"แม้โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น คือการปรับแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กให้น้อยลง ซึ่งครอบครัวมีความสำคัญที่สุด โดยได้รับคำแนะนำจากทีมสหวิชาชีพ ในการปรับลดพฤติกรรมอย่างถูกวิธีและทำให้เด็กหายป่วย" อธ.กรมสุขภาพจิต ระบุ

ด้าน "พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง" ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากผลวิเคราะห์เด็กที่เข้ารับบริการ พบว่าเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมเช่นโรคดื้อ เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มี เฉลี่ยวันละ 30-40 คน สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้นพบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2-3 ปี  เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้นอารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยลักษณะอาการเด่นๆ ของเด็กที่เป็นโรคดื้อ จะมี 8 อาการ คือ 1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา 2. เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ 3. ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่ง-กฎเกณฑ์บ่อย ๆ 4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ 5. โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อย ๆ 6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย 7. โกรธและไม่พอใจบ่อย ๆ 8. เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาตพยาบาท

หากผู้ปกครองพบว่าลูกมีอาการที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อบำบัดพฤติกรรม  ซึ่งต้องใช้ร่วมกันหลายวิธี ได้แก่ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวหรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว  ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง  รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียนในการดูแลและช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย

"การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน  คือการลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรงหรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก  ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย " พญ.กุสุมาวดี ระบุ

ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ กล่าวย้ำด้วยว่า ผลของการรักษาขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเด็กและการดูแลของผู้ปกครองและครูร่วมกัน โดยพบว่าเด็กประมาณ 1 ใน 4 ที่ได้รับการรักษาแล้วจะหายขาด ที่เหลืออีก 3 ใน 4 หากครอบครัวมีความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว จะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมในด้านดีมากขึ้น สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน มักจะมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคนั้นๆ ก็จะช่วยให้พฤติกรรมดื้อต่อต้านดีขึ้น

12 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c gjkmoprsy126

คุ้นเคยกันดีกับคำว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ดังนั้นหากรู้จักคิดและปรับเปลี่ยนทัศนคติก็สามารถทำชีวิตให้ดีขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะบ้านไหนที่มีพ่อแม่สูงวัยเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ กระทั่งทำให้ลูกหลานหลายคนเกิดความรู้สึกเหนื่อยและท้อแท้ในการดูแลท่าน หลายครอบครัวที่มีลูกมากถึงขั้นเกี่ยงกันในการเอาใจใส่

แต่หากลองคิดกลับกันว่า เราโชคดีแค่ไหนที่มีบุพการีป่วย เพราะนั่นถือเป็นวิธีในการตอบแทนผู้มีพระคุณมากกว่าที่จะมองเป็นภาระ เพราะทำให้ได้ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มากขึ้น จากที่พูดกันวันละไม่กี่คำ แต่ในช่วงเวลาที่ต้องดูแลท่านก็อยู่ด้วยกันมากขึ้น นั่นไม่เพียงทำให้เราเข้าใจชีวิต แต่จะทำให้คนรุ่นลูกเตรียมตัวเตรียมใจรับความชรา และเข้าใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ให้ความรู้ว่า "เรื่องนี้มองได้เป็น 2 ประเด็นคือ 1.เรื่องการทำความเข้าใจผู้สูงวัยป่วย 2.การที่ลูกหลานควรทำความเข้าใจว่าการเจ็บป่วยนั้นถือเป็น เรื่องปกติของมนุษย์ทุกคน และทุกคนอีกเช่นกันที่ต้องเผชิญกับการไม่สบาย เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต เมื่อมองภาพรวมได้อย่างนี้ก็จะทำให้ลูกหลานยอมรับและเห็นใจ อีกทั้งอยากช่วยสนับสนุนให้คุณตาคุณยายมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านร่างกายที่ลดลงของท่าน

          ขณะเดียวกันในมุมของผู้สูงอายุ ท่านก็อยากเป็นคนสูงอายุที่มีความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน อีกทั้งคนชราจะรู้สึกดีมากหากได้ช่วยเหลือลูกหลานไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม แต่เมื่อด้านกายภาพของท่านทำงานน้อยลง การที่ลูกหลานเข้าใจในความเสื่อมของร่างกาย ตลอดจนโรคภัยต่างๆ โดยไม่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เสียใจ อีกทั้งให้เกียรติ ชื่นชม ขณะที่ท่านกำลังเจ็บป่วย โดยการช่วยกันดูแล ตรงนี้จะทำให้ผู้ใหญ่และลูกหลานสามารถอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ทั้งนี้ ลูกหลานเองก็ต้องไม่คาดหวังเรื่องการเจ็บป่วย แต่ให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนจะต้องเจอ เช่น การที่ผู้สูงวัยป่วยจนกระทั่งไม่สามารถเดินได้ ดังนั้นจึงไม่ควรตั้งเป้าว่าท่านจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ควรพยายามเข้าใจความต้องการทางใจของท่าน และช่วยกันดูแลผู้สูงอายุให้ดีที่สุด

          ในส่วนของมิติจิตใจคุณตาคุณยายเอง ก็ต้องมองเรื่องความเจ็บป่วยให้เป็นเรื่องธรรมชาติ เช่น การมีโรคประจำตัวไม่ใช่เรื่องแปลก กินยารักษาโรคก็ไม่ใช่เรื่องแปลก นั่นจึงทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพจิตที่ดี หรือสามารถอยู่กับโรคได้อย่างไม่เป็นทุกข์ หรือแม้แต่คุณตาคุณยายบางท่านที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ ฯลฯ แต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ดังนั้นการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและสร้างความภูมิใจให้ตัวเอง โดยการช่วยเลี้ยงหลาน การเล่นกับเด็กๆ กระทั่งการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เนื่องจากมีผลการวิจัยออกมาระบุว่า การที่ผู้สูงอายุป่วยโรคประจำตัวมีเพื่อนที่เจ็บป่วยด้วยสาเหตุเดียวกัน และได้พูดคุย ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และแชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน นั่นจะทำให้ผู้ป่วยอายุยืนยาวขึ้น เพราะท่านจะรู้สึกอบอุ่นใจโดยที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่ทั้งนี้ ลูกหลานที่ดูแลผู้สูงวัยก็ต้องรู้จักหาเวลาพักผ่อน หรือคนคอยผลัดเปลี่ยนเพื่อไม่ให้รู้สึกเครียดมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ดูแลพ่อแม่ไม่ดีเท่าที่ควร

          "สำหรับลูกหลานที่มักเกี่ยงกันดูแลพ่อแม่ป่วย หมออยากแนะนำว่า ถ้าเราคิดไม่รอบคอบ หลายคนจะมองว่าเรื่องนี้คือปัญหาหรือเป็นภาระ ทั้งเรื่องการเงินและกำลังใจ จึงมักปฏิเสธการดูแลท่าน แต่หากไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว หากลูกๆ ปฏิเสธที่จะดูแลพ่อแม่ไม่สบาย นั่นจะทำให้เกิดแผลที่ใจ เพราะหากท่านเสียชีวิตไปแล้ว ลูกๆ จะรู้สึกผิดในภายหลัง ที่สำคัญ ผู้ที่ดูแลผู้สูงวัยไม่เพียงขึ้นชื่อในเรื่องความกตัญญู แต่จะทำให้คุณได้เรียนรู้การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัยผ่านตัวของเราเอง ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นหากอายุมากขึ้น นอกจากนี้ ประสบการณ์ดีๆ ตลอดจนการเรียนรู้ที่มีประโยชน์จากผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตผ่านโลกมานาน ผ่านคำพูดของท่าน และการสังเกตของลูกหลาน ก็ถือเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีในการนำไปใช้และสอนลูกหลานต่อไป"

          ที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า การดูแลบุพการียามป่วยไข้เป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าทางจิตใจ ไม่ใช่การเสียแรงกายแรงใจที่เปล่าประโยชน์ แต่นั่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ลูกหลานควรทำให้กับร่มโพธิ์ร่มไทรด้วยความกตัญญูรู้คุณ

9 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.