- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 295
กรมควบคุมโรค จับมือเครือข่ายเดินหน้าเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่เกิดจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เดินหน้าเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เกิดจากสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน ตามแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ.2560-2564) เน้นความร่วมมือแบบบูรณาการตามแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” โดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่ 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยงในประเทศไทย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว่า จากที่ท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบในหลายด้าน รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคระบาดใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ ประกอบกับที่องค์การอนามัยโลก ได้มีการทบทวนรายชื่อโรคติดต่ออันตรายที่อาจมีการแพร่ระบาดได้ทั่วโลก ซึ่งยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน เพื่อให้ทุกประเทศมีการเตรียมพร้อมรับมือและทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม รวมทั้งเน้นในเรื่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ หรือสุขภาพหนึ่งเดียว นั้น
กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ทั่วโลกมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเดินทางที่สะดวกทำให้โรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งโรคติดต่ออุบัติใหม่ส่งผลกระทบต่อคน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยที่ผ่านมาโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงในประเทศไทย มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคติดต่ออุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เช่น โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 (2009) เป็นต้น 2.โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง โรคไข้เวสไนล์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น และ 3.โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่ เป็นต้น
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2560–2564 (ระยะเวลา 5 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดการป่วย การตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ และให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการทั้งสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีภาคส่วนต่างๆร่วมดำเนินการแบบบูรณาการตามแนวคิด“สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบาย และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมามีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศ ระหว่าง 8 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และสภากาชาดไทย หากประชาชนสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
14 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 237
สังคมปัจจุบันมีสื่อมากมาย ทำให้ผู้รับชมสื่อต้องพบเจอกับสื่อที่ดีและไม่ดี บางคนถึงขั้นเรียนแบบพฤติกรรมทั้งดีและไม่ดีซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตนเองและสังคมได้
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า มีผลงานวิจัย พบว่าข่าวการฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่และปริมาณข่าว โดยการเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังการรับข่าวที่น่าสะเทือนใจ บรรยายวิธีการกระทำโดยละเอียด นำเสนอซ้ำบ่อยๆ หรือทำให้คิดว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจ ในทางจิตวิทยาการรับข้อมูลข่าวสารเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงนาทีมีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย
นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายมีหลายปัจจัย ทั้งสาเหตุทางด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้าที่พบมากขึ้น ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุทางด้านจิตวิญญาณ สาเหตุทางด้านสติปัญญา สาเหตุด้านครอบครัว สาเหตุทางด้านพฤติกรรมและสังคม วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม สาเหตุด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายได้สำเร็จ มักมีปัญหาความยุ่งยากใจมากกว่าหนึ่งปัญหาเสมอ ดังนั้น จึงไม่ควรด่วนสรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายของคนคนหนึ่ง
นพ.ณัฐกรกล่าวต่อว่า สำหรับบุคคลทั่วไปขอให้หมั่นสังเกตคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หากพบมีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ แยกตัว ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ของโรคซึมเศร้า หรือคนที่มักพูด หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย
ดังนั้นขอให้รีบเข้าไปพูดคุย แสดงความเต็มใจ ช่วยเหลือ ยอมรับปัญหาของเขา ให้กำลังใจ ไม่ปล่อยให้อยู่ลำพังคนเดียว ชักชวนออกไปทำกิจกรรม ข้างนอก และพาไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมที่แอพพลิเคชั่นสบายใจ (sabaijai)
14 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 566
ประเทศไทยกำลังมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบในปี 2564 คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่เด็กไทยกลับเกิดน้อยลงเสียจนน่าตกใจ โดยปี 2560 อัตราการเกิดใหม่น่าจะไม่ถึง 7 แสนรายด้วยซ้ำ และที่น่าวิตกคือ ส่วนหนึ่งเป็นการเกิดน้อยที่ด้อยคุณภาพเสียด้วย
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเพิ่มอัตราการเกิดใหม่นั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ยังไม่สามารถทำได้ แม้จะมีมาตรการให้เงินส่งเสริมเพื่อการมีบุตรก็ตาม ส่วนประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้ โดยปัจจุบันอัตราการการมีบุตรเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราทดแทนทางประชากรซึ่งควรต้องอยู่ที่ 2.1 คน นอกจากนี้ การเกิดส่วนหนึ่งเป็นการเกิดด้อยคุณภาพ เนื่องมาจากการเกิดในแม่วัยรุ่นที่ไม่มีความพร้อม ขณะที่คนที่มีความพร้อมก็แต่งงานช้าลง มีลูกช้าลง และเมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของเด็กก็พบว่า ในปี 2560 เด็กแรกเกิดถึง 2 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 23.2 ส่วนเด็กอายุ 3-5 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 42 หรือ 1 ใน 3 ดังนั้น แม้จะมีอัตราการเกิดน้อย แต่ก็ต้องทำให้การเกิดนั้นมีคุณภาพมากที่สุด
นพ.วชิระ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา พบว่า จังหวัดนี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบเร็วกว่าระดับประเทศ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 19 แล้ว คาดว่าไม่เกินปี 2561-2562 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ แต่อายุขัยเฉลี่ยกลับต่ำกว่าระดับประเทศ แสดงว่ามีอัตราการเกิดน้อย แต่จากการดำเนินโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เพื่อส่งเสริมให้อัตราการเกิดนั้นมีคุณภาพมากที่สุด โดยดูแลตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด จนถึงอายุ 2 ขวบ ถือเป็นการตอบโจทย์ประเทศ และเป็นต้นแบบในการดำเนินการให้แก่พื้นที่อื่นได้ ซึ่งไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีเศรษฐานะอย่างไร หากได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแต่ช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต ก็สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีได้ ก็จะช่วยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สูงดีสมส่วน และเมื่อเข้าสู่การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งจะต้องมีการวัดไอคิวและอีคิว เชื่อว่าไอคิวจะต้องเกิน 100 จุดแน่นอน
สำหรับโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตนั้น นพ.สุผล ตติยนันทพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิมาย จ.นครราชสีมา อธิบายว่า เป็นการดำเนินการเพื่อให้อัตราการเกิดมีคุณภาพมากที่สุด ลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิด เพิ่มพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้มีความสมวัย มีภาวะโภชนารที่ดี สูงดีสมส่วน โดยเป็นการดำเนินการที่ส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลหญิงตั้งครรภ์ สร้างความผูกพันระหว่างเด็ก ครอบครัว และชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน โดยปี 2560 ได้เลือกพื้นที่ดำเนินการนำร่อง 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ปากช่อง อ.พิมาย อ.ด่านขุนทด อ.โนนสูง และ อ.สูงเนิน โดยปี 2561 ก็ได้มีการประกาศนโยบายขยายโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตในทุกอำเภอของ จ.นครราชสีมา
นพ.สุผล กล่าวอีกว่า การดำเนินงานโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ในส่วนของ อ.พิมายนั้น แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ 1.ระยะก่อนการตั้งครรภ์ จะเน้นการป้องกันความพิการแต่กำเนิด โดยจะมีการสนับสนุนยาเม็ดโฟลิก 5 มิลลิกรัม และยาเม็ดธาตุเหล็ก 60 มิลลิกรัมให้แก่ครอบครัวที่กำลังจะมีบุตร ซึ่งยิ่งได้รับก่อนการมีบุตรก็จะยิ่งดี เพราะเป็นการเตรียมความพร้อม โดยการค้นหาคู่รักคู่ไหนที่กำลังจะมีบุตร ก็ได้มีความร่วมมือกับร้านพรีเวดดิ้งในการช่วยประชาสัมพันธ์โครงการและให้ข้อมูล ก็ช่วยให้เข้าถึงคู่รักที่กำลังจะแต่งงานสร้างครอบครัวและวางแผนที่จะมีบุตรให้ได้เตรียมความพร้อมได้
2.ระยะฝากครรภ์ หรือ 270 วันแรกของการตั้งครรภ์ จะเน้นให้เกิดการฝากท้องที่มีคุณภาพ คือการเสริมนมและไข่ 90 วัน 90 กล่อง และเกลือไอโอดีน โดยได้รับงบประมาณจากทางท้องถิ่น แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่เพียงพอในการดำเนินการ ซึ่งพระครูวาทีธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดป่าพิมาย ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงร่วมดำเนินโครงการนมก้นบาตร และสังฆทานนมจืด เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กที่จะเกิดมาในชุมชน โดยใช้นมจืดใส่บาตร และถวายสังฆทานด้วยนมจืด โดยนมจืดที่ได้นั้นจะมีการรวบรวมแล้วกระจายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการจัดเก็บและแจกจ่ายให้แก่หญิงตั้งครรภ์
“นอกจากนี้ ยังมีโครงการแม่แสงธรรมบวร โดยบวรมาจากตัวย่อของคำว่า บ้าน วัด และโรงพยาบาล ที่สมานสามัคคีในการดูแลเด็ก โดยบวรคือประเสริฐเลิศล้ำ กิจกรรมดังกล่าวจะนำหญิงตั้งครรภ์พร้อมสามีเข้าร่วมการสวดมนต์ ทำสมาธิ ฟังธรรม ทุกวันอังคารที่ 2 ของเดือน เพื่อให้จิตใจสงบ สร้างพลังศรัทธา คุณค่าบทบาทความเป็นพ่อและแม่” นพ.สุผล กล่าว
นพ.สุผล กล่าวว่า อีกโครงการหนึ่งที่ดำเนินการในระยะนี้ คือ โรงเรียนพ่อแม่ โดยกิจกรรมมีการสอนบทบาทพ่อแม่การปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ ภาวะโภชนาการหญิงตั้งครรภ์ การดูแลสุขภาพช่องปาก การฝึกออกกำลังกายหญิงตั้งครรภ์ กิจกรรมกอดเติมรัก เพื่อซึมซาบความเป็นพ่อและแม่ และการพาทัวร์ห้องคลอดเพื่อลดความตื่นตระหนกของหญิงตั้งครรภ์และญาติ ให้มีความคุ้นชินกับห้องคลอด เห็นแนวทางการดำเนินงาน เมื่อเวลาคลอดจริงจะได้ไม่ตื่นเต้น ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติและผ่าคลอด พร้อมอธิบายขั้นตอนการคลอด ซึ่งเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างหญิงตั้งครรภ์ ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เขาเข้าใจการดำเนินงาน และหากเกิดปัญหาในการคลอด ตรงนี้จะทำให้เขาเข้าใจการทำงานมากขึ้น รู้ว่าเราตั้งใจทำเพื่อพวกเขาจริงๆ ก็จะช่วยลดการฟ้องร้องลงไปได้
3.ระยะคลอด เน้นห้องคลอดคุณภาพ โดยแม่เกิดรอด ลูกปลอดภัย มีการซ้อมแผนภาวะฉุกเฉิน และเปิดการเยี่ยมรับขวัญในโรงพยาบาล 4.ระยะแรกเกิดถึง 6 เดือน หรือ 180 วัน เน้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยให้ยาเสริมธาตุเหล็กแก่หญิงให้นมบุตร มีคลินิกนมแม่จัดนะกร้าเยี่ยมบ้าน ดึงชุมชนร่วมต้อนรับเด็กใหม่ในชุมชน โดยจัดพิธีรับขวัญหลานเข้าสู่ครอบครัวและชุมชน มอบกระเช้าของขวัญที่จัดโดยชุมชนเอง และ 5.ระยะ 6 เดือน ถึง 2 ปี รวม 550 วัน เน้นพัฒนาการสมวัย ฟันแข็งแรง โดยมีการตรวจคัดกรองพัฒนาการ จ่ายยานำเสริมธาตุเหล็ก และดูแลสุขภาพช่องปาก ส่งเสริมอาหารตามวัย ชวนผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุทำของเล่นมอบให้แก่เด็กในชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน เป็นต้น
ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า สาเหตุที่หญิงตั้งครรภ์ต้องรับประทานนมมากๆ นั้น จริงๆ แล้วต้องบอกว่าคนตั้งครรภ์ไม่ได้ต้องการแคลเซียมมากกว่าคนปกติเลย คือ ต้องการ 800 มิลลิกรัม หรือนมประมาณ 3 กล่อง เพียงแต่ที่คนท้องต้องกินนมเพิ่ม เนื่องจากำบว่าหญิงไทยปกติก็กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อยอยู่แล้ว ไม่เพียงพอ ตอนตั้งครรภ์จึงต้องส่งเสริมให้ทานนมเพิ่ม คือควรดื่มให้ได้วันละ 3 แก้ว แต่คนที่ไม่เคยดื่มอาจเริ่มดื่มแต่น้อย แล้วเพิ่มอาหารอื่นที่มีแคลเซียม เนื่องจากท้องอาจปั่นป่วนได้ และอาจต้องระวังโปรตีนจากนมวัว เพราะหากดื่มมากก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กที่เกิดมาแพ้นมวัวได้
ความมหัศจรรย์ของโครงการ คือ หลังจากดำเนินการในปี 2560จนถึงปัจจุบัน พบว่า ไตรมาสสองของปี 2561 อัตราทารกแรกเกิดคลอดครบกำหนด มีน้ำหนักตัวเกิน 2,500 กรัมทั้งสิ้น แต่หากรวมกับทารกคลอดก่อนกำหนดแล้ว ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมนั้นมีไม่เกิน 7% ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าเด็กที่เกิดมานั้นมีคุณภาพ และเมื่อมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพมากที่สุด
13 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 398
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ช่วงหน้าร้อนกินน้ำแข็งไม่สะอาดอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและอหิวาตกโรคได้ แนะ เพื่อความปลอดภัยให้เลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน พร้อมย้ำผู้ผลิตให้ควบคุมขั้นตอนการผลิต รวมถึงห้ามแช่สิ่งของอื่น ๆ ในน้ำแข็งบริโภค
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงหน้าร้อนเครื่องดื่มและของหวาน คลายร้อนประเภทน้ำแข็งไส หวานเย็น ขนมปังเย็น น้ำผลไม้ปั่น รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำแข็งหลายชนิด ได้แก่ น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งสี่เหลี่ยม น้ำแข็งถ้วยเล็ก น้ำแข็งถ้วยใหญ่ น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งโม่หรือน้ำแข็งป่น จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่หากน้ำแข็งที่ใช้บริโภคไม่สะอาดพอ อาจเสี่ยงให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารตามมาได้ ผู้บริโภคควรเลือกบริโภคน้ำแข็งที่มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ และเมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่นๆ อยู่ก้นแก้ว ส่วนผู้จำหน่ายน้ำแข็งต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยโดยเฉพาะการเก็บรักษาความเย็นและภาชนะสำหรับบรรจุน้ำแข็ง ห้ามใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ ในการห่อหรือปกคลุมน้ำแข็งเด็ดขาด สถานที่เก็บรักษาเพื่อจำหน่ายต้องสะอาดและมีระดับสูงกว่าทางเดิน ง่ายต่อการทำความสะอาดและไม่มีสิ่งปนเปื้อนในน้ำแข็ง ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ย เป็นต้น ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียวยกเว้นให้มีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้าม เพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้น ถ้าพบว่ามีการนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่รวมกันอยู่ในถังน้ำแข็งนั้นก็ไม่ควรนำมาใช้เพื่อการบริโภค
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า น้ำแข็งที่แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายต้องมีภาชนะปกปิดมิดชิด ไม่ควรวางอยู่บนพื้น ทางเท้าหรือใกล้ถังขยะ ภาชนะที่ใช้เก็บสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ใช้มือกอบน้ำแข็ง ส่วนร้านอาหารต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ภาชนะต้องไม่เป็นสนิม สามารถเก็บความเย็นได้ดี ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภคโดยเด็ดขาด ส่วนผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณขนส่ง ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด ล้างมือทุกครั้ง ก่อนปฏิบัติงานสวมรองเท้าที่สะอาด และควรเป็นรองเท้าคนละคู่กับรองเท้าที่ปนเปื้อนจากนอกบริเวณขนส่ง ไม่สูบบุหรี่หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะขณะทำการขนส่ง และที่สำคัญห้ามใช้เท้าสัมผัสน้ำแข็ง ในส่วนของรถขนส่งนั้นต้องเป็นรถที่สะอาด โดยเฉพาะพื้นรถที่วางน้ำแข็งต้องมีการล้าง ฆ่าเชื้อก่อนทำการขนส่ง และมีมาตรการควบคุมอุณหภูมิน้ำแข็งให้สม่ำเสมอ
“ทั้งนี้ การผลิตน้ำแข็งจะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างกว่าจะถึงมือผู้บริโภค หากผู้ผลิตไม่มีความระมัดระวังตั้งแต่ต้น เริ่มจากคุณภาพของน้ำที่นำมาผลิต การเก็บ การขนส่ง รวมถึงภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งไม่สะอาดพอก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และ ฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตหรือ จีเอ็มพี เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท และมีการควบคุมตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่ายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
13 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.
- Details
- Category: ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส.
- Hits: 319
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่าย เฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ ได้รับแจ้งจากองค์การอนามัยโลก ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A/Singapore และสายพันธุ์ B/Phuket ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย ได้รับ การคัดเลือกไปผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศซีกโลกใต้ ประจำปี 2561 ส่งผลให้คนไทยจะได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งมีศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติหรือห้องปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ไวรัสไข้หวัดใหญ่และส่งข้อมูลให้องค์การอนามัยโลก เพื่อตัดสินใจว่าจะใช้เชื้อสายพันธุ์ใดผลิตวัคซีนในแต่ละปี ซึ่งการประชุมองค์การอนามัยโลก ณ กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในปีนี้ ได้คัดเลือกสายพันธุ์ A/Michigan, A/Singapore และ B/Phuket นำไปผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศซีกโลกใต้ ประจำปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2561 คนไทยจะได้ใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย เพราะในแต่ละปีไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ในวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยวัคซีนที่ทางกระทรวงสาธารณสุขฉีดให้กับประชาชน จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ 3 สายพันธุ์ แต่ถึงแม้ว่าสายพันธุ์วัคซีนจะไม่ตรงกับสายพันธุ์ ที่ระบาดอยู่ แต่วัคซีนก็ยังสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
"อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำเป็นต้องดูแล และป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการหมั่น ออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่เสี่ยงติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่ ที่มีคนแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้โดยการหายใจรดกัน การไอและการจาม และที่สำคัญถ้าเป็นไข้แล้วมีอาการไอมาก หายใจติดขัด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ควรรีบมาพบแพทย์ทันที" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กล่าวในที่สุด
12 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.