Powered by Spearhead Software Labs Joomla Facebook Like Button

newscms thaihealth c bcflnrstv568

คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็คโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน นี่คืออาการติดโทรศัพท์มือถือ ที่ส่งผลต่อด้านสุขภาพร่างกาย

พญ.พรรณพิมลวิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าบางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็คโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia)และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์แบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ

          สำหรับ อาการติดโทรศัพท์มือถือส่งผลต่อด้านสุขภาพร่างกาย เช่น 1.นิ้วล็อกเกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์ หน้าจอเป็นระยะเวลานาน2.อาการทางสายตาเช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไปอาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม3.ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผล เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร 4.โรคอ้วนแม้พฤติกรรมจะไม่ส่งผลโดยตรง แต่การนั่งทั้งวันโดยไม่ลุกเดินไปไหน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้

          พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่าโนโมโฟเบีย (Nomophobia)มาจากคำว่า "no mobile phone phobia"เป็นศัพท์ที่หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่(YouGov)บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 ที่ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัววิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบมากที่สุด กว่า70%ในกลุ่มเยาวชน18-24ปีรองลงมา คือ กลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ25 - 34ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ55ปีขึ้นไป ตามลำดับ ในปัจจุบัน ยังไม่ถึงขั้นกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยโรคหลักทางจิตเวช (DSM 5)เนื่องจากการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค พยาธิสภาพทางจิตใจ และ ผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวยังมีไม่มากพอ

          อย่างไรก็ตาม แนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเอง มีหลายวิธี เช่นกำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน,กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ทโฟนเช่น ขณะเดิน กิน ก่อนนอน ตื่นนอนใหม่ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทำงาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬากิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด

2 เมษายน 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c adhikpqvxy13

กรมการแพทย์แผนไทยฯ สานต่อตำรับยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากคัมภีร์ใบลานสู่การใช้ประโยชน์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมชู 3 ตำรับยอดฮิต ทำใช้เองได้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม กรณีใช้เพื่อการค้าต้องมีการขออนุญาตจากกรม เพื่อตอบแทนผลประโยชน์ให้แผ่นดินร้อยละ 3

นายแพทย์เกียรติภูมิ  วงศ์รจิต  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากการที่ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส  ได้นำเสนอถึงเหตุการณ์ในอดีตช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สะท้อนให้เห็นประเพณี สังคมและวัฒนธรรมของคนไทยในยุคนั้น รวมทั้งภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มีหลาย ๆ ฉากของละครได้นำเสนอการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรที่ใช้ดูแลสุขภาพในเบื้องต้น  ดังนั้นเพื่อให้เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันและการอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับตำรับตำรายาที่สืบทอดมาถึงชนรุ่นหลังในปัจจุบัน  ถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของคนไทย  เมื่อละครช่วยปลุกความตระหนักรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่องเครื่องยาไทย จึงอยากจะนำเสนอตำรับยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีการนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์จริงในยุคปัจจุบัน คือ ยาทาพระเส้น สรรพคุณ แก้ปวดเมื่อยตามเส้นเอ็น ตะคริว ยาน้ำมันมหาจักร สรรพคุณ รักษาแผลเรื้อรัง แผลเปื่อย และแก้ปวดเมื่อยร่างกาย และยาประคบคลายเส้น สรรพคุณ คลายกล้ามเนื้อและเส้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้มีการจดบันทึกตำรับยาที่ใช้ดูแลสุขภาพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นตำราการแพทย์แผนไทยและตำรับเภสัชกรรมไทยฉบับแรกของประเทศไทย คือ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ หรือ ตำราธาตุพระนารายณ์ คาดว่าเป็นตำราด้านการแพทย์ที่ดีที่สุดในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นตำรับยาที่ปรุงถวายพระมหากษัตริย์ เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนที่สะสมองค์ความรู้ มาพัฒนาและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อกัน มีการอธิบายถึงทฤษฎีการแพทย์แผนไทยว่า ความเจ็บป่วยไข้เกิดจากธาตุทั้ง 4 คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายไม่สมดุล ตำราพระโอสถพระนารายณ์สรุปพระโรคและอาการไว้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มโรค ได้แก่ 1. โรคและอาการของระบบทางเดินอาหาร 2. โรคและอาการที่เกี่ยวกับเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ 3. โรคและอาการของระบบทางเดินหายใจและโรคตา 4.โรคติดเชื้อ 5. โรคและอาการไม่สบายอื่น ๆ เช่น ไข้ต่าง ๆ แมลงสัตว์กัดต่อย ผมร่วง และกล่าวถึงตำรับยา 81 ตำรับ พร้อมวิธีปรุงยาแบบโบราณ ซึ่งเรียบเรียงไว้ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ สละสลวย กระชับและชัดเจน มีสาระน่ารู้มากมายที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ได้ลงนามประกาศให้คัมภีร์พระโอสถพระนารายณ์ หรือคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์เป็นตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ และตำรับยาในคัมภีร์เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ มีการสังเคราะห์ และแปล ให้เป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดตำราโอสถพระนารายณ์ได้ฟรีที่เว็บไซต์  กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก http://ptmk.dtam.moph.go.th/home.php เพื่อใช้ในการศึกษา ต่อยอดองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยในการดูแลสุขภาพโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ  ยกเว้นกรณีใช้เพื่อการค้าต้องมีการขออนุญาตจากกรมการแพทย์แผนไทย ฯ โดยจะต้องตอบแทนผลประโยชน์ให้ประเทศชาติ ในอัตราร้อยละ 3 รายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149  5607-8

30 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c ahiknuxz2478

เผยผลสำรวจ พบเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง โดยเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด 73%

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8 ถึง 12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test ซึ่งเป็นชุดเดียวกันกับเด็กประเทศอื่นๆ รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน โดย WEF Global press release ได้เผยแพร่งานวิจัยระดับโลกในเรื่องพลเมืองดิจิทัลของโลกนี้ พบว่าเด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากออนไลน์ถึง 60% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 56% และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าฟิลิปปินส์ 73% อินโดนีเซีย 71% เวียดนาม 68% และสิงคโปร์ 54% ซึ่งจากรายงานดังกล่าวพบว่าเด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเทอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง โดยเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด 73%

นายณัฐพล กล่าวว่า ภัยออนไลน์หรือปัญหาจากการใช้ชีวิตดิจิทัลของเด็กไทยที่พบมากที่สุดมี 4 ประเภท คือ 1.กลั่นแกล้งทางออนไลน์ ทั้งด่ากันด้วยข้อความหยาบคาย ตัดต่อภาพ 49%, 2.เข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ 19%, 3.ติดเกม 12% และ 4.ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า 7% ขณะที่กิจกรรมที่เด็กไทยนิยมใช้เมื่อเข้าอินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ดูวีดิโอออนไลน์ 73%, ค้นหาข้อมูล 58%, ฟังเพลง 56%, เล่นเกม 52% และการรับส่งอีเมลหรือแชตข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ 42% นอกจากนี้ พบว่าเด็กไทยใช้โซเชียลมีเดีย ถึง 98% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 12% และในจำนวนนี้ใช้งานสม่ำเสมอมากถึง 50% เช่น โพสต์รูป โพสต์คอมเมนต์ ซื้อหรือขายของออนไลน์ สำหรับโซเชียลมีเดียที่เด็กไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทูบ 77%, เฟซบุ๊ก 76%, ไลน์ 61%, อินสตาแกรม 24%, ทวิตเตอร์ 12% และสแนปแซต 4%

26 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c cghjmoqrv137

กรมวิทย์ฯ ตรวจพบอาหารเสริมยี่ห้อดัง มีสารปลอมปนไซบูทรามีน  ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่มีผลข้างเคียงอันตราย

          นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการแชร์ผ่านโซเชียลว่ารับประทานอาหารเสริมชื่อดังแล้วมีอาการใจ สั่น นอนไม่หลบ แน่นหน้าอก ชาตามปลายมือ ปลายเท้า จนต้องเข้ารพ. และต่อมามีการส่งต่อข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อดังยี่ห้อดังกล่าวว่ามีการลักลอบใส่สารไซบูทรามีน ว่า การตรวจวิเคราะห์สารที่อยู่ในอาหารเสริมนั้นมี 2 รูปแบบ คือ 1.กรมวิทย์ฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภค (สคบ.) สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด และ2. ที่ประชาชนส่งเข้ามาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาหารเสริมญี่ห้อดังกล่าวมีประชาชนส่งเข้ามาตรวจเมื่อวันที่ 18 ม.ค. พบว่ามีการปลอมปนของไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารต้องห้าม เพราะเป็นยาแผนปัจจุบันที่มีผลข้างเคียงอันตราย ที่เรากังวลคือทำให้หัวใจวาย ตายได้ ทั้งนี้อาหารเสริมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ห้ามใส่ยาแผนปัจจุบัน หากลักลอบใส่จะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านในกรณีทั่วไปที่ประชาชนเป็นคนส่งมาตรวจนั้น หากพบสารทางเจ้าของผลิตภัณฑ์มักอ้างว่าเป็นของลอกเลียนแบบ ดังนั้นกรณีนี้จะมีการร่วมกับอย.ในการตรวจล็อตอื่นๆ ต่อไปเพื่อให้ทราบผลที่แน่นอน

          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ปกติกรมฯ มีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริมเหล่านี้ และพบการปลอมปลมตลอด ใน 6 กลุ่มคือ 1. ยารักษาโรคสมรรถภาพทางเพศ 2. ยาลดความอ้วน 3. ยาลดความอยากอาหาร 4. ยาระบายสมัยใหม่ 5. กลุ่มยาสเตียรอยด์ และ 6. ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อย่างไรก็ตามยาลดน้ำหนักมีการปลอมปนร้อยละ 13

          นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า การลดน้ำหนักเป็นสิ่งสำคัญเพราะคนไทยมีปัญหาเรื่องการอ้วน ลงพุง แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือ การควบคุมอาหาร ปริมาณที่รับประทานเข้าไปอย่าให้เกินที่ร่างกายต้องการ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน พยายามออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-45 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก ส่วนเรื่องการใช้ยา หรือการทานอาหารเสริม หากจำเป็นจริงๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องลดน้ำหนักก็ขอให้พบแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

30 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.

newscms thaihealth c bcdfhijrv146

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเตือนปิดเทอมหน้าร้อนผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ระวังเด็กจมน้ำและถูกสุนัขกัด เสี่ยงเสียชีวิต

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปีเป็นการปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กประกอบกับประเทศไทยช่วงนี้มีอากาศที่ร้อนอบอ้าว เตือนผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดให้ระวังใน 2 เรื่องใหญ่ คือ การจมน้ำ เนื่องจากในช่วงปิดเทอม เด็กๆมักนิยมไปเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน ซึ่งในปี 2560 พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 708 ราย เฉพาะในช่วงปิดเทอมคือมีนาคม-พฤษภาคม มีเด็กเสียชีวิตจากตกน้ำ จมน้ำสูงถึง 254 ราย ส่วนในปีนี้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 22 มีนาคม 2561 มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำแล้ว 26 ราย แหล่งน้ำที่พบบ่อย คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ หนองน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ รองลงมาคือสระว่ายน้ำ

ดังนั้น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก อย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  เพราะเด็กวัยนี้ยังมีการทรงตัวไม่ดี ไม่มีความพร้อมในการป้องกันตนเอง จึงจมน้ำได้ง่าย แม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยหรือแหล่งน้ำที่มีน้ำเพียงเล็กน้อยก็ตาม

สำหรับโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอีกเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและใส่ใจ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค 22 มีนาคม 2561 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 18,968 ราย ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเด็กเล็ก สอนให้เด็กปฏิบัติตามคำแนะนำ คาถา 5 ย  เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด ได้แก่ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ และเมื่อเด็กถูกสุนัข/ แมว กัดข่วนหรือเลียผิวหนังที่มีแผล ให้รีบล้างแผล ใส่ยา ไปพบแพทย์ และฉีดวัคซีนให้ครบอย่าประมาทถึงแม้จะเป็นสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงไว้ก็ตาม แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าว

26 มีนาคม 2561 - ศูนย์การเรียนรู้ สสส.